บทความ

หน้าแรก / รายละเอียดบทความ

ผู้มีเงินได้ต้องรู้ ภ.ง.ด. 90 91 94 คืออะไร

20 September, 2023 .

ผู้มีเงินได้ต้องรู้ ภ.ง.ด. 90  91  94 คืออะไร

 

ทั้ง ภ.ง.ด. 90  91  94 ต่างก็เป็นภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาเหมือนกัน ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า ผู้มีเงินได้มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล กรณีบุคคลธรรมดาต้องทราบประเภทของรายได้ของตนเอง เพื่อยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ให้ถูกต้อง 

สำหรับการยื่นภาษีนั้น ผู้ยื่นเสียภาษีเงินได้คงคุ้นเคยกับคำว่า “ ภ.ง.ด. “ ซึ่งย่อมาจาก      ภาษีเงินได้ โดยแบบ ภ.ง.ด. สำหรับบุคคลธรรมดา จะมีอยู่ 4 แบบ คือ

  • ภ.ง.ด. 90 สำหรับผู้มีเงินได้ทุกประเภท ม. 40 (1) – (8) โดยมีกำหนดยื่นแบบภายใน             วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของปีภาษีถัดไป
  • ภ.ง.ด. 91 สำหรับผู้มีเงินได้ประเภทที่ 1 หรือ ม. 40 (1) อย่างเดียว โดยมีกำหนดยื่นแบบภายใน วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของปีภาษีถัดไป
  • ภ.ง.ด. 94 สำหรับผู้มีเงินได้ประเภทที่ 5, 6, 7 และ 8 หรือ ม. 40 (5) (6) (7) (8)  ต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ครึ่งปี  โดยมีกำหนดยื่นแบบภายในวันที่ 1 กรกฏาคม ถึง          31 กันยายน ของปีภาษีเดียวกัน

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หมายถึง "ภาษีเงินได้ที่เรียกเก็บจากบุคคลซึ่งมีเงินได้พึงประเมินตามเกณฑ์ที่ประมวณรัษฎากรกำหนดไว้ตาม มาตรา 40 โดยยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีสำหรับปีภาษีนั้น"


ประเภทของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 มี 8 ประเภท สรุปได้ ดังนี้

 

1. เงินได้ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น 


- เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
- เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง
- เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ซึ่งนายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
- เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ
- เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น มูลค่าของการได้รับประทานอาหาร เป็นต้น 

2. เงินได้ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็น

- ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด
- เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส
- เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
- เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
- เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ
- เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือ จากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว 


3. เงินได้ประเภทที่ 3 ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล

4. เงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร   เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ เป็นต้น


      (ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ไม่ว่าจะมี หลักประกันหรือไม่ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอน กับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน รวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืมหรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิดไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม
      (ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายไทยให้จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับให้กู้ยืมเงิน ฯลฯ 
      (ค) เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
      (ง) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน
      (จ) เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มาหรือรับช่วงกันไว้รวมกัน
      (ฉ) ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากันหรือรับช่วงกันหรือ เลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
      (ช) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วนหรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

      เงินได้ประเภทที่ 4 เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล  กฎหมายให้สิทธิที่จะเลือกหรือไม่เลือกนำเงินได้ดังกล่าวมารวมเพื่อยื่นเสียภาษีก็ได้ ( Final Tax )  ในกรณีที่อัตราภาษีเงินได้มีอัตราที่สูงกว่าอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่ายซึ่งจะสามารถช่วยประหยัดภาษีได้  

5. เงินได้ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่น ที่ได้เนื่องจาก

- การให้เช่าทรัพย์สิน
- การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
- การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว  


6. เงินได้ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้ 


7. เงินได้ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ 


8. เงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว

 

 

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีเงินได้เป็นเงินเดือน หรือรับค่าจ้างในฐานะลูกจ้างเพียงอย่างเดียว    จะใช้แบบ ภ.ง.ด. 91 ในการยื่นเสียภาษี

แต่หากเมื่อใดก็ตามที่มีรายได้ทางอื่นเพิ่มเติมด้วย เช่น กรณีลงทุนในหุ้น หรือซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม แล้วได้รับเงินปันผล หรือมีบ้านให้เช่า มีเงินได้จากกิจการของตัวเอง กรณีนี้ให้ใช้แบบ ภ.ง.ด. 90 แทน เพราะถือว่ามีเงินได้ประเภทอื่นนอกจากประเภทที่ 1

 

การวางแผนภาษีถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ สำหรับผู้มีเงินได้ทุกคน การยื่นเสียภาษีที่ถูกต้องและการมีความรู้พื้นฐานในเรื่องภาษีจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องการความผิดพลาดในยื่นภาษีไม่ถูกต้อง  ยื่นไม่ครบถ้วน  เพราะผลเสียที่จะตามมาคือ การถูกเรียกคืนภาษีย้อนหลัง รวมถึงเบี้ยปรับต่าง ๆ ที่กรมสรรพากรจะเรียกเก็บเพิ่ม

 

By Thidarat  Keereeta , Finance Coach.